Powered By Blogger

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

พืชในป่าชายเลน-เหงือกปลาหมอดอกม่วง

เหงือกปลาหมอดอกม่วง

ชื่อพฤกษศาสตร์: Acanthus ilicifolius L.
ชื่อพื้นเมือง: เหงือกปลาหมอดอกม่วง
ชื่อท้องถิ่น: เหงือกปลาหมอทะเล
วงศ์ ACANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พื้นล่างของป่าชายเลน เป็นไม้พุ่มลำต้นเลื้อย หรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูง 0.50 - 2 เมตร ราก พบทั้งรากค้ำจุน และรากหายใจซึ่งเกิดจากลำต้นที่เอนนอน ลำต้น ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นแข็งตั้งตรง กลวงตามแนวจุดศูนย์กลาง มีหนามอ่อนๆตามข้อ แต่เมื่ออายุมากมักจะเอนนอน ลำต้นแก่จะแตกกิ่งออกไป สีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มักมีหนามที่โคนก้านใบ 1 คู่ ใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 1 - 1.5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปหอก ขนาด 3 - 6.5 X 7 - 18 เซนติเมตร เรียวสอบลงมาทางฐานใบ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลม หรือ เป็นติ่งหนาม หรือ ขอบใบเว้าหยักเป็นลูกคลื่น มีหนามแหลมที่ปลายหยัก หนามแหลมนี้มักเกิดที่ปลายเส้นใบหลัก และมีหนามขนาดเล็กกว่าแทรก ปลายใบเป็นสามเหลี่ยมกว้างมีหนามที่ปลายใบ ใบสีเขียวอ่อนถึงเข้ม ดอก ออกเป็นช่อตั้งตรงที่ปลายกิ่งแบบช่อเชิงลด ยาว 10 - 15 เซนติเมตร ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ออกรอบแกนประมาณ 20 คู่ ใบประดับล่างสุดของแต่ละดอกยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ร่วงหลุดเร็ว ใบประดับย่อยสีเขียวด้านข้าง 2 ใบ รองรับดอกมีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร เด่นชัด และติดคงทน วงกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ สีเขียวอ่อนถึงสีน้ำตาลอมเขียว แยกเป็นกลีบล่าง และกลีบบน กลีบบนใหญ่กว่ากลีบล่าง วงกลีบดอกสมมาตรด้านข้าง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 - 4 เซนติเมตร กลีบในด้านบนสั้นมาก ความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยงประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างใหญ่แผ่กว้างและโค้งลง ปลายกลีบเว้าเป็น 3 พูตื้นๆยาว 2 - 2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 4 อัน สีชมพู ดอกสีฟ้าหรือฟ้าอมม่วง หรือ สีน้ำเงินอ่อนหรือม่วงอ่อน มีสีเหลืองตรงกลางกลีบดอก เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือ วงกลีบ ตอนบนเป็นจะงอย ภายในมี 2 ห้อง มีเม็ดไข่มาก ก้านเกสรยาวพ้นระดับกลีบดอก ผล เป็นฝักมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ขนาด 0.5 - 0.7 X 1.5 - 2.0 เซนติเมตร ที่ปลายมียอดเกสรเพศเมียแห้งติดอยู่ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ด 4 เมล็ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น